จับตา”ยักษ์หลับ”รีเทิร์น ทีมใหญ่ก้าวใหม่ใน “อเมเจอร์ลีก”

แม้การระบาดของ”โควิด”อันหนักหน่วงหลายระลอก ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ไม่ได้ทำให้ความคึกคักในฟุตบอลอาชีพหายไป

Category:

Description

แต่กลับพุ่งสูงสวนทางสถานการณ์อย่างไม่น่าเชื่อ พิสูจน์ได้ด้วยตัวเลขของการส่งทีมฟุตบอลรายการ “ไทยแลนด์ อเมเจอร์ ลีก 2021” ทีมตั้งไข่ก่อนไปสู่ลีกอาชีพไทยลีก 3

แม้ไม่ได้ทำลายสถิติเดิม 221 ทีม ในปีก่อน แต่ในฤดูกาลนี้มีถึง 179 ทีม เข้าร่วมแข่งขันจากจำนวน 6 ภูมิภาค

ในจำนวนหนึ่งคือทีมใหญ่ที่หายไปจากสารบบฟุตบอลอาชีพ และกำลังจะกลับมาอีกครั้ง

เริ่มที่โซนภาคเหนือ ต้องแสดงความยินดีกับกองเชียร์ชาละวัน ภายหลัง “พิจิตร เอฟซี” พักทีมไปนาน ล่าสุดมีการก่อตั้ง “พิจิตร ยูไนเต็ด” เพื่อเตรียมเข้าแข่งขันฟุตบอลอเมเจอร์ลีก โดยใช้สังเวียนมาตราฐาน “พิจิตร สเตเดี้ยม” เป็นรังเหย้า

ทีมลูกหนังเมืองชาละวัน ห่างหายจากวงการลูกหนังลีกภูมิภาคไปนานถึง 5 ปี โดยก่อนหน้านี้มี “พิจิตร เอฟซี” เป็นทีมประจำจังหวัด ภายใต้การบริหารของ “ชาติชาย เจียมศรีพงษ์” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร นั่งประธานสโมสร แต่หลังจากตกชั้นจากไทยลีก ดิวิชั่น 1 เมื่อจบฤดูกาล 2558 สโมสรมอบหมายให้สโมสรฟุตบอล อยุธยา วอริเออร์ ยืมสิทธิ์ในการลงเล่นในลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 เป็นเวลา 1 ปี

จากนั้นปี พ.ศ. 2560 สโมสรเรียกคืนสิทธิ์ในการลงแข่งขันคืนจากอยุธยา วอริเออร์ และขอพักทีมโดยไม่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน

กระทั่งล่าสุดในฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง กลุ่มทุนใหม่ในจังหวัด โดยมี “สจ.ศร” อนุศร คำจริง เป็นประธานสโมสรฯ ตัดสินใจส่งทีมภายใต้ชื่อ “พิจิตร ยูไนเต็ด” แต่ยังใช้โลโก้จระเข้ สัญญลักษณ์ของ จ.พิจิตร เหมือนเดิม โดยเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในอเมเจอร์ลีก

อีกจังหวัดที่ต้องพูดถึงคือ “นครสวรรค์” แดนดินลูกหนังทีมระดับแชมป์ประเทศและสร้างนักเตะให้กับชาติมาหลายราย โดยเฉพาะระดับตำนานอย่าง “เสือเตี้ย” สะสม พบประเสริฐ และ “สิงโตเผือก” วิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์

หลังจากไปจากลีกอาชีพ ฤดูกาลนี้ในศึกอเมเจอร์ลีก 2 ทีมคืนสังเวียนมาพร้อมกันคือ “ปากน้ำโพ เอฟซี” และ “สิงโตแดง” นครสวรรค์ เอฟซี

โดย ปากน้ำโพ เอฟซี ของประธานสโมสร “มารุต ศรีผึ้ง” ใช้รังเหย้าสนามโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ ในขณะที่ “นครสวรรค์ เอฟซี” ใช้สนามกีฬากลางจังหวัดนครสวรรค์

ถือเป็นศึกที่รักพี่เสียดายน้อง ต้องลุ้นกันว่า 3 ทีมผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตที่อยู่ร่วมโซนเหนือตอนล่าง ทีมใดจะผ่านเข้าสู่ไทยลีก 3

มาดูกันที่โซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่น่าตื่นตาคือการกลับมาของ “ปีศาจปู” สมุทรปราการ ยูไนเต็ด ทีมในดวงใจของ “สายัณห์ แสงวงศ์” ผู้รักฟุตบอลที่เคยพาทีมลุ้นแชมป์ในยุคแรกในยุคของโค้ช “วันชัย แหยมสลัม” รวมถึงการแจ้งเกิดของ “แมสซี่ปากน้ำ” พรปรีชา จารุนัย

ในฤดูกาลนี้ “สมุทรปราการ ยูไนเต็ด” ส่งทีมลุยอเมเจอร์ลีก พร้อมกับการเปิดตัวนักเตะดัง “บ่าววี” เรืออากาศตรีวีรยุทธิ์ นานช้า ลูกทุ่งคนดังมาอยู่ในสังกัดเรียกแฟนคลับได้มากทีเดียว

โซนกรุงเทพ สังเวียนของ “สมุทรปราการ ยูไนเต็ด” ถือว่าไม่ธรรมดา เมื่อมีทีมระดับเดียวกันเข้ามาแย่งพื้นที่ อาทิ ธีรชัยพาเลท สมุทรปราการ เอฟซี รวมถึง มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เอฟซี ที่ประมาทไม่ได้

สำหรับ โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องหันมาดู “กระรอกขาวเจ้าสนาม” ร้อยเอ็ด พีบี ยูไนเต็ด ทีมจากเมืองเกินร้อยเดิมคือ “ร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด” ของ “เศกสิทธิ์ ไวยนิยมพงศ์” ถือเป็นเต้ยแห่งแดนอีสาน เข้ารอบแชมเปี้ยนส์ลีก โดยการคว้าแชมป์ 3 สมัย และขึ้นดิวิชั่น 1 มาแล้ว ก่อนมีปัญหาฟ้องร้องในเรื่องของนักเตะจนต้องพักทีมในฤดูกาล 2017

กระทั่งนารีขี่ม้าขาว “มาดามแพรว” เกษตรสุข ศุภหงส์ทอง พร้อมผู้สนับสนุน “บีพี” แบรนด์เสื้อผ้ามาสร้างทีมใหม่และส่งเข้าร่วมทำศึกอเมเจอร์ลีก โดยยังมี “บิ๊กเอ” เศกสิทธิ์ นั่งเป็นที่ปรึกษาสโมสร พร้อมได้ลูกหม้อ “ธงชัย รัฐไชย” มายืนเป็นกองหน้าพร้อมทำหน้าที่โค้ช

ภาคตะวันตก หายไปนานสำหรับแฟนบอลเมืองลิงที่จะได้กลับมาคึกอีกครั้ง หลังจาก “วานรไฟ” ลพบุรี เอฟซี เข้ามาเล่นในฟุตบอลลีกอาชีพในปี 2008 ในฟุตบอลอาชีพ “ดิวิชั่น 2” นานถึง 5 ปี กระทั่งตัดสินใจปฎิเสธการส่งทีมในปี 2013 และถูกแบนจากการแข่งขัน 2 ปี กลับมาอีกครั้งในปี 2015 แต่ “ลพบุรี เอฟซี” ถูกจับไปอยู่ในโซนภาคเหนือ ทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินทางสุดท้ายตัดสินใจยุติการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้ง

กระทั่งหายเงียบไปจากสารบบ แต่ในฤดูกาลนี้ แฟนพญาวานร กลับมาคึกคักแน่นอนเนื่องเพราะมีถึง 5 ทีมร่วมแข่งขันในอเมเจอร์ คือ โคกสำโรง ซิตี้, พัฒนานิคม ซิตี้, ละโว้ ยูไนเต็ด และอีกสองทีมที่น่าลุ้นคือ ลพบุรี ซิตี้ และ ลพบุรี ยูไนเต็ด

โดยเฉพาะ “ลพบุรี ยูไนเต็ด” ของดาวเตะดัง “ไพฑูรย์ เทียบมา” ที่ดึง “เจ้าอ๋อ ศักดา เจิมดี” อดีตกองกลางทีมชาติไทยที่ค้าแข้งในเวียดนามนานหลายปีเข้ามาร่วมทีม

มาถึง ภาคตะวันออก การกลับมาลุ้นขึ้นไทยลีก 3 อีกครั้งของ “นครนายก เอฟซี” เปิดสนามกีฬากลางจังหวัดนครนครนายก เป็นรังเหย้า “นักรบขุนด่าน” วางแผนระยะยาวเพื่อพัฒนาสร้างทีมและการดึงศักยภาพและสร้างนักเตะท้องถิ่น แต่ทำได้ดีเพียงใดต้องติดตาม

และต้องจับตาสองทีมในเมืองปราจีน คือ “ปราจีนบุรี ยูไนเต็ด” และ “ปราจีนบุรี ซิตี้” โดยเฉพาะ “ซิตี้” ทีมนี้ถือว่าคึกคักเพราะถูกก่อตั้งขึ้นด้วยกลุ่มแฟนฟุตบอลปราจีนบุรี โดยมี “TW SPORT” ผู้สนับสนุนหลัก และใช้สนามกีฬากลางจังหวัดปราจีนุบรี เป็นรังเหย้า

ปิดท้ายที่โซนภาคใต้ ก่อนหน้านี้ “เรือขุดมหากาฬ” พังงา เอฟซี เคยสร้างความคึกคัก ในยุคของ “โกไข่” นายวิชัช ไตรรัตน์ เป็นประธานสโมสร และได้ “สิงโตเผือกปากน้ำโพ” วิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์ อดีตนักเตะทีมชาติไทยไปเป็นโค้ช ก่อนเชียร์แน่น และในฤดูกาล 2014 มีลุ้นถึงแชมป์ในโซนใต้

แต่หลังจาก “โกไข่” ลาออกทีมเรือขุดทรุดลงและเกือบตกชั้นจนถึงฤดูกาล 2017 สโมสรฯ ไม่ผ่านการตรวจคลับไลเซนซิ่ง จึงต้องพักการส่งทีมไปโดยปริยาย

มาในฤดูกาลนี้กองเชียร์ชาวเหมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลัง “พังงา ยูไนเต็ด” ส่งทีมเข้าแข่งขันโดยใช้สนามกีฬากลางจังหวัดพังงา เป็นรังเหย้า

ส่วนจะไปได้ไกลเพียงใดต้องผ่านด่านหินอย่าง “เอมเอ็ช นครศรี เอฟซี” ของโค้ช “ใหญ่ นิลวงศ์” ที่ได้ตัวดังอย่าง “บารมี ลิ้มวัฒนะ” มาเป็นจอมทัพ โดยใช้สนามอบจ.นครศรีธรรมราช เป็นรังเหย้า และทีม “ภูเก็ต อันดามัน เอฟซี” ที่ดึงกองหลังอดีตทีมชาติ “ประทุม ชูทอง” มาเสริมในแนวรับ

แม้โปรแกรมการแข่งขันจากเดิมที่กำหนดไว้ พฤษภาคม ต้องเลื่อนออกไป แต่เชื่อแน่ว่าไม่นานการแข่งขันต้องดำเนินการต่อ

ถือเป็นปีที่ยากลำบากในการต่อสู้กับ “โควิด” และคู่แข่งขันแต่ละทีมที่จัดวางระเบียบระบบ และพื้นฐานสู่ความเป็นทีมอาชีพอย่างมั่นคง

เครดิต: smmsport.com